"ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภู คู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา"
ข้อมูลหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น(กปท.)
 

รายงานสถานการณ์ภาพรวมการกำจัดขยะติดเชื้อ คปสอ.ขุขันธ์(17/2/2559)

               เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอขุขันธ์(คปสอ.ขุขันธ์)ประกอบด้วย โรงพยาบาลขุขันธ์ และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอขุขันธ์ มีหน่วยบริการสาธารณสุขในสังกัด จำนวน 28 แห่ง ได้แก่ ศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองห้วยเหนือ และ รพ.สต.จำนวน 27 แห่ง จากการสำรวจเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 พบว่า หน่วยบริการฯทุกแห่ง ร้อยละ 100 มีการกำจัดขยะติดเชื้อมูลฝอยเองโดยการเผาในเตาเผาขยะของแต่ละ รพ.สต. ตามสภาพที่เป็นอยู่ ไม่ได้ขนส่งขยะมูลฝอยต่อไปกำจัดยังเตาเผาขยะของโรงพยาบาลขุขันธ์ แต่อย่างใด
เตาเผาของโรงพยาบาลขุขันธ์แบบ 2 หัวเผา ซึ่งขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลฯและศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองห้วยเหนือทั้งหมด จะถูกเก็บรวบรวมมาเผาเองที่เตาเผาแห่งนี้ ห้องเผามูลฝอยติดเชื้อที่อุณหภูมิ 700 องศาเซลเซียส และห้องเผาควัน 800 องศาเซลเซียส เผาขยะได้ 150 กก./ครั้ง กำหนดเผาขยะติดเชื้อที่รวบรวมได้ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์
             สำหรับ แนวทางการบริหารจัดการขยะติดเชื้อของผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน ในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละ รพ.สต.นั้น รพ.สต.แต่ละแห่ง และโรงพยาบาลขุขันธ์ จะสนับสนุนถุงแดง ถุงมือ และหน้ากากให้ญาติของผู้ป่วย/ผู้ดูแล นำไปดำเนินการเก็บรวบรวมขยะติดเชื้อจากผู้ป่วยใส่ลงถุงแดง แล้วนำมาส่งกำจัดโดยการเผาที่เตาเผาของแต่ละ รพ.สต.

             วิธีการกำจัดขยะติดเชื้อของแต่ละ รพ.สต.ทุกแห่ง มีมาตรการในการดำเนินการกำจัดขยะติดเชื้อ โดยถือปฏิบัติตามคู่มือIC (Infection Control) หรือ คู่มือแนวทางปฏิบัติการดำเนินงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจัดทำโดย คปสอ.ขุขันธ์ แจกให้ทุกแห่งได้ยึดถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน



สรุปภาพรวม การเผามูลฝอยติดเชื้อสำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ทุกแห่งกำจัดโดยการเผาที่เตาเผาซึ่งมีอยู่แล้วแต่ส่วนใหญ่เป็นเตาเผาขยะที่ รพ.สต.ทุกแห่งสร้างขึ้นเองไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด แต่อย่างใด


**************************************************

หมายเหตุ ประเด็นข้อกฏหมายที่น่าสนใจ...กฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อพ.ศ. ๒๕๔๕ มีดังนี้

ข้อ ๓ ในกฎกระทรวงนี้
              “มูลฝอยติดเชื้อ” หมายความว่า มูลฝอยที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในปริมาณหรือมีความ เข้มข้นซึ่งถ้ามีการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับมูลฝอยนั้นแล้วสามารถทำให้เกิดโรคได้
               กรณีมูลฝอยดังต่อไปนี้ ที่เกิดขึ้นหรือใช้ในกระบวนการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์และการรักษาพยาบาล การให้ภูมิคุ้มกันโรคและการทดลองเกี่ยวกับโรค และการตรวจชันสูตรศพหรือซากสัตว์ รวมทั้งในการศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นมูลฝอยติดเชื้อ
                        (๑) ซากหรือชิ้นส่วนของมนุษย์หรือสัตว์ที่เป็นผลมาจากการผ่าตัด การตรวจชันสูตรศพหรือซากสัตว์ และการใช้สัตว์ทดลอง 
                (๒) วัสดุของมีคม เช่น เข็ม ใบมีด กระบอกฉีดยา หลอดแก้ว ภาชนะที่ทำด้วยแก้ว สไลด์ และแผ่นกระจกปิดสไลด์
                (๓) วัสดุซึ่งสัมผัสหรือสงสัยว่าจะสัมผัสกับเลือด ส่วนประกอบของเลือด ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเลือด สารน้ำจากร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ หรือวัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่มีชีวิต เช่น สำลี ผ้าก๊อส ผ้าต่างๆ และท่อยาง
               (๔) มูลฝอยทุกชนิดที่มาจากห้องรักษาผู้ป่วยติดเชื้อร้ายแรง“ห้องรักษาผู้ป่วยติดเชื้อร้ายแรง” หมายความว่า ห้องรักษาผู้ป่วยซึ่งติดเชื้อร้ายแรงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา


ข้อ ๖ ข้อกำหนดในส่วนที่ว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อในหมวด ๔ ให้ใช้บังคับแก่ผู้ดำเนินการสถานบริการการสาธารณสุขหรือผู้ดำเนินการห้องปฏิบัติการเชื้ออันตรายที่ดำเนินการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยตนเองด้วย และให้สถานบริการการสาธารณสุขหรือห้องปฏิบัติการเชื้ออันตรายนั้นแจ้งให้ราชการส่วนท้องถิ่นที่สถานบริการการสาธารณสุขหรือห้องปฏิบัติการเชื้ออันตรายนั้นตั้งอยู่ จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และเมื่อราชการส่วนท้องถิ่นนั้นได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ผู้ดำเนินการสถานบริการการสาธารณสุขหรือผู้ดำเนินการห้องปฏิบัติการเชื้ออันตรายดังกล่าว จึงจะดำเนินการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยตนเองได้

ข้อ ๒๕ การกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ มีวิธีการดังนี้
(๑) เผาในเตาเผา
(๒) ทำลายเชื้อด้วยไอน้ำ
(๓) ทำลายเชื้อด้วยความร้อน

(๔) วิธีอื่นตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๒๖ การกำจัดมูลฝอยติดเชื้อโดยการเผาในเตาเผา ให้ใช้เตาเผาที่มีห้องเผามูลฝอยติดเชื้อและห้องเผาควัน การเผามูลฝอยติดเชื้อให้เผาที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า ๗๖๐ องศาเซลเซียส และในการเผาควันให้เผาด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ องศาเซลเซียส ทั้งนี้ ตามแบบเตาเผาที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดหรือเห็นชอบ และในการเผาต้องมีการควบคุมมาตรฐานอากาศเสียที่ปล่อยออกจากเตาเผาตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา


หมายเหตุ ขณะนี้ในพื้นที่สาธารณสุขเขต 10 (ประกอบด้วยจังหวัดมุกดาหาร ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี)ของเรามีเพียงเตาเผาขยะมูลฝอยติดเชื้อของเทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพียงแห่งเดียวที่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ผู้รายงาน  นายจำนันต์  ผิวละออง  สาธารณสุขอำเภอขุขันธ์ 
ข้อมูล นายสุเพียร  คำวงศ์  งานอนามัยสิ่งแวดล้อม สสอ.ขุขันธ์
ภาพประกอบรายงาน ขอบคุณ จนท.จาก รพ.สต.ทุกแห่งในสังกัด สสอ.ขุขันธ์