"ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภู คู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา"
ข้อมูลหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น(กปท.)
 

การปฏิบัติการ “พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด”ของนายกปู

คำกล่าว
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดปฏิบัติการพลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด
ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 2554 เวลา 10.00 น.
------------------------------
เรียนท่านรองนายกรัฐมนตรี
ท่านรัฐมนตรี
ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด
ผู้นำองค์กรท้องถิ่น และผู้มีเกียรติทุกท่าน
                 ก่อนอื่นดิฉันต้องขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมกันรวมพลังกันในวันนี้ เพราะถือว่าปัญหายาเสพติดนั้นไม่ใช่ปัญหาของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของคนไทยทั้งประเทศที่เราจะต้องมารวมพลังกัน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา อยากจะเริ่มต้นที่ทาง presentation ก็ได้บอกว่าจากผลสำรวจความคิดเห็นพี่น้องประชาชนอยากให้มีการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นการเร่งด่วน ซึ่งจะเรียนว่าปัจจุบันปัญหายาเสพติดที่เราพบนั้นเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าดูเปรียบเทียบเมื่อปี 2550 มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพียง 409,000 คน แต่ในปี 2554 นี้ มีจำนวนผู้เกี่ยวข้องนั้นเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในเวลา 4 ปี นั่นประมาณ 1,386,000 คน เป็นจำนวนที่มาก และรวมถึงจำนวนหมู่บ้านที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกลุ่มที่เป็นเป้าหมายอยู่ถึง 60,000 จาก 80,000 หมู่บ้าน หรือรวมถึงจากจำนวนที่ผู้ป่วยทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 1,300,000 คน นั้น เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราจะต้องมาทำงานร่วมกันเพื่อคืนคน เพื่อคืนลูกหลานนั้นกลับคืนสู่สังคม เป็นถึงจำนวน 400,000 คน นี่ก็คือเป็นสิ่งที่ทำไม เป็นที่มาของวันนี้ ที่ดิฉันต้องเรียนว่ามีความภาคภูมิใจที่เราได้มารวมพลัง เป็นพลังความสามัคคีที่ต้องการให้ได้คนดีกลับคืนสู่สังคมอย่างแท้จริง ถึงได้รับการร่วมมือจากทุกภาคส่วนแบบนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ ในฐานะที่ดิฉันเป็นแม่ และได้เดินผ่านระหว่างถามนั้น ได้เห็นสิ่งที่พบมาก็คือตั้งแต่ตัวอย่างของยาบ้าที่มีการขายอยู่เกลื่อนอยู่ตามท้องตลาด และเห็นครอบครัวของคุณพ่อคุณแม่ที่ได้ลูกกลับคืนมา สิ่งนี่ละค่ะ เป็นพลังให้พวกเรานั้นมารวมกันเพื่อที่จะรวมพลังทำอย่างไรนั้น ให้ผู้เสพที่เราถือว่าเป็นผู้ป่วยนั้น กลับคืนมาเป็นคนและกลับคืนสู่สังคมและกลับคืนสู่คุณพ่อ คุณแม่ ต่อไป
                 ปัญหายาเสพติดนอกจากจะเป็นปัญหาที่มีความสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ถือว่าเป็นวาระแห่งชาติและเป็นการรับสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 11 สิงหาคม 2554 ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระกระแสรับสั่ง ต่อผู้เข้าเฝ้าฯ ในขณะที่ถวายพระพรชัย ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน ทรงชี้ให้เห็นถึงภัยอันตรายของปัญหายาเสพติด และทรงเรียกร้องให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมใจกันแก้ไขปัญหา ยาเสพติด เพื่ออนาคตของประเทศไทยและเยาวชนไทย รัฐบาลและทุกภาคส่วนจึงได้น้อมนำพระกระแสรับสั่งนี้มาปฏิบัติด้วยความจงรักภักดี
                 เพื่อให้ข้อห่วงใยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้รับการแก้ไขอย่างลุล่วง รัฐบาลได้มีการกำหนดนโยบายในการที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วน และถือเป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า "ปฏิบัติการพลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด" ซึ่งเราตั้งเป้าหมายว่าจะต้องลดปัญหานี้ ให้ได้ภายในเวลา 1 ปี ดังนั้นการทำยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติการพลังแผ่นดินฯ นั้น จึงต้องทำงานอย่างเป็นระบบ และต้องการการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าในการทุ่มสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนนั้น เราจะสามารถลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับพี่น้องประชาชน
                องค์ประกอบที่เราจะนำมาขับเคลื่อน เราได้นำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาซึ่งจะมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เคยทำมาเมื่ออดีตในสมัยรัฐบาลปี 2550 สมัย พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น 6 ประการด้วยกัน 
                ประการที่แรก การแก้ไขปัญหาโดยยึดหลักใช้พื้นที่เป็นฐาน นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ สิ่งที่ผ่านในอดีตนั้นประสบความสำเร็จ เพราะว่าเรายึดพื้นที่เป็นฐาน เพื่อที่มีการแบ่งพื้นที่ในการที่จะดูแลและ สอดส่องในเรื่องของภัยของยาเสพติด 
                ประการที่สอง การมอบบทบาทความรับผิดชอบร่วม รวมถึงจากบทบาทนั้นก็มีการเชื่อมต่อในเรื่องการทำงานผ่านระบบข้อมูลจากทางด้านของกลุ่มผู้ค้า กลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง ไปยังอำเภอและจังหวัดเข้ามายังส่วนกลาง จะทำให้การรายผลนั้น ไม่ใช่เป็นการรายงานผลที่เลื่อนลอย
                ประการที่ 3 .........(ถอดมาไม่ได้หรือไงหนอคนถอดเทป)
                ประการที่สี่ คือ การจำแนกกลุ่มผู้เสพ ซึ่งกลุ่มผู้เสพนั้น สมัยครั้งนั้นสามารถบำบัดผู้เสพได้ถึง 300,000 ราย 
                ประการที่ห้า มีการกำหนดกลไกการทำงานในลักษณะของศูนย์อำนวยการที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการจากส่วนกลาง เพื่อสั่งการไปยังภูมิภาค 
                 และประการที่หก คือ การกำหนดเจ้าภาพที่ชัดเจน นั้นคือสิ่งที่เป็นข้อปฏิบัติในรัฐบาลที่ผ่านมาเมื่อครั้งปี 2550
                 ดังนั้นในยุคของรัฐบาลปัจจุบันเราได้นำผลสำเร็จต่าง ๆ นั้น เข้ามาประมวล เพื่อประยุกต์และนำมาปฏิบัติเข้าเป็นแผนปฏิบัติยุทธศาสตร์ "พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด" ซึ่งแผนปฏิบัติงานของเราครั้งนี้ ที่เราจะมาทำงานรวมพลังกัน เพื่อที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดนี้มี 6 ประการด้วยกัน 
                 ประการที่ 1) เราจะทำการเสริมสร้างพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด โดยการมุ่งเน้นในการดำเนินงานในระดับชุมชนและ หมู่บ้าน การทำงาน ข้อมูลทั้งหมดนั้น มีความต้องการและความจำเป็นในการที่จะได้รับการเสริมสร้างจากพลังจากกลุ่มชุมชน หมู่บ้าน ทุกภาคส่วน ภาคประชาชน ภาคเอกชนทุกองค์กร โดยการน้อมนำหลักปฏิบัติต่าง ๆ ประมวลเข้าด้วยกันและมีการพัฒนาเครือข่ายในการเฝ้าระวังทั่วประเทศ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต รวมถึงการขยายผล "กองทุนแม่ของแผ่นดิน" ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจในการพัฒนาแบบพอเพียงและเพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน นี่คือประการที่หนึ่งที่เราจะมาเสริมสร้างพลังร่วมกัน
                  ประการที่ 2) ในการแก้ไขปัญหาของผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดนั้น หลักที่สำคัญคือ เราจะต้องถือว่าผู้เสพและผู้ติดยาเปรียบเสมือนคนไข้และผู้ป่วย นี่ละค่ะ คือสิ่งที่เป้าหมายของรัฐบาลอยากเห็น 400,000 คน นั้น กลับคืนมาเป็นคนดีสู่สังคมไทย เราถึงมองเพื่อเป้าหมายเหล่านั้น ว่าเป็นผู้ป่วย เป็นคนไข้ ที่เราต้องดูแล ซึ่งเราจะแบ่งการดำเนินการในการบำบัดฯ ออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่เป็นผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยปานกลาง และป่วยเล็กน้อย ซึ่งในแต่ละส่วนนั้น เราจะต้องขอความร่วมมือจากทางด้านของ โรงเรียนนิวัติพลเมืองที่ทางฝ่ายกองทัพบกจะเป็นผู้ดูแล รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขในการที่จะช่วยทำการบำบัดและรักษา สำหรับผู้ป่วยเล็กน้อยนั้น อยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยเข้ามาบูรณาการร่วมกันโดยการบำบัดรักษาให้หายขาดและการฟื้นฟู ในขั้นตอนนี้ ดิฉันกราบเรียนว่าดิฉันอยากเห็นนอกจากการที่เรามาบำบัดรักษา ฟื้นฟู ให้ความรู้ของโทษยาเสพติด และขณะเดียวกันต้องสร้างอาชีพใหม่ เป็นอาชีพที่ให้ทำทดแทนจากการเสพยาเสพติด เพื่อที่จะให้คนป่วยของเรานั้น จะได้มีงานทำและมีสิ่งที่เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของครอบครัว
สำหรับ 
                   ประการที่ 3) เรื่องการป้องกันกลุ่มเสี่ยง โดยจะมองพื้นที่กลุ่มเสี่ยงทั้งหมด จากที่เรียนว่า 80,000 ชุมชนมาเป็น 60,000 ชุมชน นั้น ในแต่ละกลุ่มเสี่ยงต้องทำการตรวจสอบในพื้นที่ และรวมถึงการจัดสถานที่ต่าง ๆ ที่ว่างเปล่าในกลุ่มเสี่ยงเหล่านั้น เพื่อให้มีสถานที่ที่เป็นอเนกประสงค์หรือกีฬา หรือสิ่งที่เป็นกิจกรรมอื่น ๆ ในท้องถิ่นเป็นการทดแทน เพื่อที่จะส่งเสริมไม่ให้เกิดขบวนในกลุ่มเสี่ยงในการที่จะเข้าไปค้าขายยาเสพติด เป็นต้น 
                    ประการที่ 4) คือ การปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดและผู้ทรงอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยต้องยึดหลักนิติธรรม ขอให้มาตรการทางกฎหมายในการปราบปรามนั้น เป็นไปอย่างยุติธรรมและเข้มงวดจริงจังในทุกขั้นตอน ตรงนี้ดิฉันก็ขออนุญาตให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ เพราะเป็นขั้นตอนที่ทุกท่านนั้นต้องเกิดจากการรวมพลังจริง ๆ เพราะเราต้องการเห็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติ ก็ให้กำลังใจเป็นขั้นตอนที่ยากลำบากค่ะ แต่ขอให้ท่านทำคดีนั้น อย่างเข้มงวดจริงจังและตรงไปตรงมา
                    ส่วนประการที่ 5) คือ การส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศในการแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมทั้งติดตามตามแนวชายแดนด้วย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการที่จะป้องกันป้องปรามในขบวนการของ ยาเสพติดในการส่งขบวนการยาเสพติดข้ามชาติ หรือลอบนำเข้า อันนี้ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราจะลดปริมาณการขาย 
                    และประการที่ 6) การปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และผู้บกพร่อง อันนี้ก็ขอให้เน้นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่เข้าไปพัวพันหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยเด็ดขาด ดิฉันเองก็เรียนว่า ขอให้ผู้บังคับบัญชาต้องพิจารณาและใช้มาตรการทางการปกครอง ในส่วนของทั้งหมดนี้ 6 ประการ นั้น คือยุทธศาสตร์ที่เราจะวางไว้ภาพรวม โดยรวมนั้น ถ้าถามว่าภาพรวมคือ เราต้องพยายามกำจัดส่วนที่ในปริมาณของการที่จะขายยาเสพติดข้ามชาติจากทุกแหล่ง ต้นทาง ขณะเดียวกันเราต้องดึงผู้ป่วยนั้น กลับเข้ามารักษาอีก 400,000 คน นั่นคือเป็นการลดปริมาณ และการลดปริมาณการขายในท้องตลาด ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดการทำงานที่ง่ายขึ้น และเป็นระบบขึ้น
                    ส่วนการกำหนดเป้าหมาย การทำงานแน่นอนค่ะ ต้องมีการกำหนดเป้าหมาย รัฐบาลได้มีการกำหนดเป้าหมายไว้ที่สำคัญ 6 ประการด้วยกัน 
                    เป้าหมายที่ 1) จะต้องลดปัญหายาเสพติด สร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน/ชุมชนที่ยังมีปัญหาก็คือลดปัญหาเหล่านั้นในจำนวน 60,000 หมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ 
                    เป้าหมายที่ 2) จะต้องลดจำนวนผู้ป่วย ผู้เสพยาเสพติดด้วยการจูงใจให้เข้าบำบัดฯ จำนวน 400,000 ราย ทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้เสพน้อยลง อันนี้ก็จะเป็นการลดความต้องการยาเสพติดในตลาดทันที 
                     เป้าหมายที่ 3) จะต้องสร้างมาตรการในการเฝ้าระวังไม่ให้ผู้เสพที่ผ่านการบำบัดฯ แล้ว กลับเข้าไปมีพฤติกรรมซ้ำอีก อันนี้ดิฉันอยากเห็นว่าอย่างน้อยต้องเห็นผล จำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้เลิกเสพนั้นควรจะไม่กลับไปอีก อันนี้ก็ เพื่อสร้างความมั่นคงของชีวิตและเป้าหมายในระยะยาว 
                     เป้าหมายที่ 4) จะต้องลดพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงในทุกจังหวัด คงจะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง 
                     เป้าหมายที่ 5) จะต้องลดปริมาณยาเสพติดในทุกจังหวัดตามแนวชายแดน อันนี้ก็จะตรงกับยุทธศาสตร์ที่ได้นำเรียนไปแล้ว 
                     และเป้าหมายที่ 6) จะต้องปรับระบบบริหารจัดการให้เกิด บูรณาการ ซึ่งบูรณาการนี้เป็นสิ่งสำคัญ ขอให้รวมศูนย์ในการเป็นเอกภาพจากทุกระดับ ในระดับชุมชนและไปยังระดับส่วนกลางทุกภาคส่วน
                     สุดท้ายเพื่อให้เป้าหมายต่าง ๆ นั้น มีกระบวนการขับเคลื่อนอย่างเป็นเอกภาพ รัฐบาลจะกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการ ดังนี้ 
                      1) จัดให้มีศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ หรือศพส. จะเป็นองค์กรอำนวยการระดับชาติที่จะเป็นศูนย์กลางจากส่วนกลางทำงานร่วมกันตั้งแต่ระดับกระทรวง กรม ภาค และระดับพื้นที่ตามแนวชายแดน อันนี้จะเป็นในระดับศูนย์กลางที่เรียกว่า ศพส. แต่ในระดับจัดตั้งในแต่ละชุมชนขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดและในส่วนแต่ละอำเภอนั้น จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการที่จะรวบรวมและส่งข้อมูลไปยัง ศพส.ส่วนกลางนั้น โดยรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับหมาย คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ ศพส. ที่มีอำนาจในการจัดตั้ง ปรับปรุงแก้ไขในทุกระดับพื้นที่ 
                      2) จัดตั้งโครงสร้างองค์ประกอบอำนาจหน้าที่และการพิจารณาความดีความชอบ และให้คุณให้โทษในศูนย์ฯ ด้วย เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่มีความตั้งใจในการทำงาน 
                      3) ให้ยึดพื้นที่และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นแนวคิดในการบริหารจัดการ เพราะในพื้นที่นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องให้ข้อมูล และในพื้นที่โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารในพื้นที่ นายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกจังหวัด เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ครั้งนี้ การทำงานจากศูนย์กลาง ศพส.นั้น จะไม่สำเร็จถ้าไม่ได้รับการบูรณาการในพื้นที่ จะไม่สำเร็จถ้าในพื้นที่นั้นไม่ให้ทั้งข้อมูลและยึดหลักเราเชื่อว่าท่านอยู่ในพื้นที่ ท่านทราบข้อมูลดีค่ะ อันนี้ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่อยากเห็นในเรื่องของระบบการจัดการ
                      4) ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองท้องถิ่นบูรณาการงานถือเป็นภารกิจ เร่งด่วน โดยการทำงานนั้นเพื่อให้เกิดการบรรลุวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะสนับสนุนการทำงานของ ศพส. ทุกระดับ เราจะทำงานบูรณการและประสานงานกันทุกระดับขั้นตอน 
                      5) ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทำหน้าที่เร่งรัดอำนวยการในการสนับสนุนการทำงาน ศพส. 
                     และ 6) ให้สำนัก งบประมาณและกระทรวงการคลังทำงานบูรณาการในการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการทุกระดับ เพื่อให้การทำงานนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นทั้งกระบวนการ วิธีการทำงาน งบประมาณ และการรายงาน ติดตามผล นี่ก็จะเป็น 6 ประการที่จะขอความกรุณาทุกท่านรับนโยบายนี้ไปปฏิบัติในทุกระดับ ต้องกราบเรียนว่า ยาเสพติดไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่ทำลายเศรษฐกิจด้วย เศรษฐกิจของชาติจะเติบโตไม่ได้ ถ้ายังมีปัญหาภัยคุกคามทางยาเสพติด และที่สำคัญอนาคตลูกหลานเป็นกำลังของเยาวชน ถ้าวันนี้เราได้จำนวน 400,000 คน นั้น กลับคืนมาเป็นคนดีของสังคม ท่านผู้มีเกียรติคงนึกนะคะว่า จาก 400,000 คน นั้น จะกลับมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เราอย่างไร และจะเป็นตัวแทนของเราอย่างไรนั้น ในการที่จะช่วยกันแก้ไขและบอกถึงปัญหา สาเหตุ
                      ดิฉันอยากเห็นนอกจากการแก้ไข การบำบัดฯ แล้ว คงต้อทาง ศพส. ว่า ขอให้กลับไปวิเคราะห์ ถึงต้นเหตุของปัญหา และสาเหตุของการที่เยาวชนไทยนั้น ติดยาเสพติด เป็นตัวเลขที่น่าใจหายและต้องบอกว่าคนที่ติดยาเสพติดนั้นอยู่ในช่วงอายุ 16 -24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นเยาวชนของชาติ เป็นกำลังของชาติที่เราอยากเห็นเด็กเยาวชนนั้นเติบโตและแข็งแรงเป็นกำลังของประเทศชาติ นั่นก็คือว่าเราต้องทำงานนี้และกลับเข้าไปเข้าใจถึงรากของปัญหาทั้งหมดนะคะ โดยภายใต้คำว่า “อยากเห็นพวกเขาคืนกลับสู่สังคมไทย” ดังนั้นการประกาศเจตนารมณ์ต่าง ๆ นี้ก็ถือว่าเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในฐานะที่เป็นการทำงานอย่างที่เรียกว่าเป็นวาระของชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่วาระของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง นะคะ
                      สุดท้ายในนามของรัฐบาล ดิฉันต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานอีกครั้งหนึ่ง ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ภาคประชาชน และทุกท่าน ที่มารวมพลังในที่นี้ ที่จะร่วมกันในการแก้ไขเพื่อปัญหาเยาวชน อย่างไรก็ตามการปฏิบัติการ “พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด” ครั้งนี้ จะไม่สำเร็จบรรลุผลได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกท่าน และรวมถึงความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในชุมชนด้วย ก็คงขออนุญาตฝากทุกท่านอีกครั้งหนึ่งในการร่วมกันรณรงค์สื่อสารถึงยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการเป้าหมายในการรวมพลังครั้งนี้ ที่สำคัญเพื่อให้พี่น้องคนไทยนั้นปลอดพ้นจากยาเสพติดและคืนคุณค่าพลังสู่แผ่นดินไทยของเรา และสุดท้ายคืนพลังและคืนกำลัง คืนคนดีกลับคืนสู่สังคมไทยค่ะ
ขอบคุณค่ะ
-------------------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
วิไลวรรณ/ถอดเทป